Sunday, January 14, 2007

คำแนะนำในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
1. อะไรคือวัตถุอันตราย ที่ต้องควบคุม?
ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์ หากต้องการทราบว่าเคมีภัณฑ์/ ผลิตภัณฑ์ นั้นเข้าข่ายควบคุมหรือไม่ควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หรือไม่นั้น ให้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอสอบถาม/หารือ ต่อ สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องจัดหาเอกสารประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้
-1. เอกสารแสดงส่วนผสมของเคมีภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์ ซึ่งระบุชื่อทางเคมี หรือสูตรเคมี และ/หรือ CAS. NUMBER โดยอัตราส่วนผสมของสารเคมีทั้งหมดรวมกันครบ 100% จากบริษัทผู้ผลิต และประทับตราบริษัท ลงชื่อผู้มีอำนาจ
-2. สำเนาใบรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
-3. สำเนาบัตรประจำตัวกรรมการผู้มีอำนาจ
-4. ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้เองให้ทำหนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์ 10 บาท) พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
หนังสือสอบถาม/หารือ นี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้ว เคมีภัณฑ์/ผลิตภัณฑ์ นั้นเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1, 2 หรือ 3 จะต้องมาดำเนินการตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ต่อไป
2. การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
ผู้ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ 3 ก่อนประกอบกิจการการผลิตหรือนำเข้าวัตถุอันตราย ต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ยกเว้นจะได้รับการยกเว้นตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543
เอกสารประกอบการยื่นขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายมีดังนี้
-1. คำขอขึ้นทะเบียนตามแบบ วอ/อก1 (ขอรับได้ที่สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ชั้น 5 ห้อง 506 )
-2. ข้อมูลความปลอดภัย ตามแบบ วอ/อก3 (ขอรับได้ที่สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ชั้น 5 ห้อง 506 )
-3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/สำเนาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
-4. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีที่ขอขึ้นทะเบียน ในนามนิติบุคคล) ที่ระบุผู้มีอำนาจลงนามและวัตถุประสงค์
-5. ข้อกำหนดเฉพาะวัตถุอันตราย (SPECIFICATION)
-6. เอกสารหรือภาพถ่ายแสดงลักษณะภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย
-7. อื่นๆ ได้แก่ ใบมอบอำนาจ (กรณีให้ผู้อื่นทำการแทน)
3. การแจ้งดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2
ผู้ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เมื่อขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายเรียบร้อยแล้ว ต้องยื่นแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามแบบวอ./อก.5 เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณารับแจ้งแล้วจึงเริ่มดำเนินการประกอบกิจการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้ ภายหลังการรับแจ้ง พนักงานเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตรายว่าตรงตามที่แจ้งหรือไม่ และตรวจสอบว่าทำเลที่ตั้ง อาคาร การจัดเก็บวัตถุอันตราย มีลักษณะถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากไม่ถูกต้องจะได้สั่งแก้ไขหรือเพิกถอนใบรับแจ้งต่อไปการที่ทางราชการออกใบรับแจ้งให้มิได้รับรองว่าสถานที่เก็บวัตถุอันตรายนั้นมีลักษณะถูกต้องตามกฎหมาย
เอกสารประกอบการยื่นแจ้งเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ได้แก่
-1. ใบแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ตามแบบ วอ./อก.5 (ขอรับได้ที่สำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม ชั้น 5 ห้อง 506 )
-2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน(กรณีบุคคลธรรมดา)
-3. สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ และสำเนาใบสำคัญแสดงว่าเป็นผู้มีอำนาจดำเนินการของนิติบุคคลผู้แจ้งการดำเนินการ
-4. แผนที่สังเขปแสดงสถานที่ประกอบการและบริเวณใกล้เคียง
-5. แผนผังของสถานประกอบการ
-6. สำเนาใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (ถ้ามี)
-7. สำเนาใบเสร็จค่าธรรมเนียมรายปี(ถ้ามี)
-8. เอกสารแสดงกรรมวิธีการผลิต(กรณีแจ้งผลิต)
-9. ใบมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง)
4. การขออนุญาต
ผู้ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ก่อนการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ต้องขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและได้รับใบอนุญาตก่อน การขออนุญาตแบ่งตามความประสงค์ของผู้ประกอบการดังนี้
-1. ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย
-2. ใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย
-3. ใบอนุญาตส่งออกวัตถุอันตราย
-4. ใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับคำขออนุญาตแล้วตรวจเอกสารถูกต้องครบถ้วนจะได้ติดต่อผู้ยื่นคำขอเพื่อนัดตรวจสถานที่เก็บวัตถุอันตรายว่าตรงตามคำขอ และตรวจทำเลที่ตั้ง อาคาร การจัดเก็บวัตถุอันตราย มีลักษณะถูกต้องตรงตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจึงพิจารณาออกใบอนุญาตให้
http://www.thaifactory.com/Operate/ImportHazard.htm

No comments: