Tuesday, January 23, 2007

โรคปลาสวยงามที่ส่งออก

บรรดาสัตว์น้ำที่มีชีวิตที่จะส่งออกไปต่างประเทศ และทางประเทศปลายทางต้องการใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ (Aquatic Animal Health Certificate) นั้น ผู้ส่งออกต้องสุ่มตัวอย่างสัตว์น้ำเหล่านั้น มาตรวจโรค เพื่อขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำดังกล่าว ตามระเบียบกรมประมง ว่าด้วยการขอใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำมีชีวิต เพื่อการส่งสินค้าสัตว์น้ำ ออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2532 สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีหน้าที่ในการให้บริการตรวจโรค และออกใบรับรองดังกล่าว สัตว์น้ำที่ผู้ส่งออกนำมาตรวจ มีหลายประเภท เช่น ตะพาบน้ำ กบ กุ้งทะเล กุ้งก้ามกราม กั้ง ปูทะเล หอยแครง ปลาเนื้อ และกลุ่มปลาสวยงาม โดยเฉพาะกลุ่มปลาสวยงาม มีหลายชนิดที่เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศ ทางแถบทวีปยุโรป ปลาสวยงามเหล่านี้มีทั้งที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง และจากการรวบรวม จากแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ทั่วประเทศ
โดยผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะรับซื้อปลาจากฟาร์มเพาะเลี้ยง และจากผู้รวบรวมปลาจากธรรมชาติ มีบางรายที่ดำเนินการเพาะเลี้ยงเองบ้างบางส่วน จากการที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ ไม่ได้เพาะเลี้ยงปลาเอง เพียงแต่รับซื้อปลามาพักไว้ชั่วคราว แล้วจึงดำเนินการส่งออกต่างประเทศ ทำให้ไม่ได้จัดการป้องกัน และรักษาโรคก่อนนำมาตรวจ และบางรายก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ รวมทั้งผู้เพาะเลี้ยงเอง ก็ไม่ได้ทำการกำจัดโรคปรสิตก่อนที่จะส่งปลาให้กับผู้ส่งออก ดังนั้นเมื่อนำปลามาตรวจโรค จึงมักตรวจพบโรคปรสิตอยู่เสมอๆ ทำให้ปลาเหล่านี้ไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้เลี้ยงปลา และผู้ส่งออกอยู่มากเหมือนกัน
เนื่องจากตามระเบียบกรมประมงผู้ส่งออกจะต้องนำปลาที่มีลักษณะภายนอกปกติ ไม่มีลักษณะแสดงอาการของปลาเป็นโรค ดังนั้นมาตรฐานของการปลอดโรค ที่จะส่งออกได้จึงเน้นหนัก ไปในการตรวจหาปรสิต โดยเฉพาะปรสิตภายนอก และอาจมีการตรวจปรสิตภายในด้วย สำหรับปลาบางชนิด เช่น การตรวจหา Hexamita sp. ในปลาปอมปาดัว ดังนั้นหากตรวจพบปรสิตชนิดใดชนิดหนึ่งแล้ว ทางสถาบันฯ ก็ไม่สามารถออกใบรับรอง สุขภาพสัตว์น้ำให้กับผู้ส่งออกได้
http://www.fisheries.go.th/dof_thai/Division/Health_new/aahri-new/thai/newsletter_th/Y_05_V_2.htm

No comments: